วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รูปแบบการปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Best Practies) : โครงงานดอกไม้หลากสี

1.  ชื่อผลงาน  โครงงานดอกไม้หลากสี
2.  ชื่อผู้นำเสนอผลงาน นางสาวเยาวลักษณ์  สุริยนต์ 
    ที่อยู่  โรงเรียนเรณูวิทยาคาร 1  หมู่ที่ 2  ตำบลเรณู  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม
    อีเมล์  newjazzz@gmail.com
3.  หลักการเหตุผล/ความเป็นผล
     วัยเด็กนี้เป็นวัยที่สนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ  ชอบสังเกต  สนทนาซักถาม  ค้นคว้าทดลองเพื่อหาคำตอบให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองสงสัย  สอดคล้องกับ  กระทรวงศึกษาธิการ. (2546 ความนำ) ที่กล่าวว่า  เด็กอายุ 3-5 ปี  เป็นวัยที่ร่างกายและสมองของเด็กกำลังเจริญเติบโต เด็กต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ดูแลอย่างใกล้ชิด  เด็กวัยนี้มีโอกาสเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้สำรวจ เล่น ทดลอง  ค้นพบด้วยตนเอง ได้มีโอกาสคิดแก้ปัญหา  เลือก ตัดสินใจ  ใช้ภาษา  สื่อความหมาย  คิดริเริ่มสร้างสรรค์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข 
          ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเด็กๆ ได้ทำการทดลองกิจกรรมวิทยาศาสตร์เรื่อง  อินดิเคเตอร์จากพืช เด็กๆ มีความสนใจในกิจกรรมนี้  ที่นำกะหล่ำปลีสีม่วงมาหั่นแล้วแช่ในน้ำเย็น  และน้ำร้อน  ได้น้ำสีน้ำเงินและสีม่วง  แล้วหยดน้ำมะนาว  น้ำโซดาลงไป  ทำให้น้ำกะหล่ำปลีเปลี่ยนสีไป  เด็กๆ ตื่นเต้น  และสนใจเป็นอย่างมาก  ทำให้มีเด็กๆ หลายคนสงสัยว่า   นอกจากผักที่เปลี่ยนสีแล้ว  ดอกไม้จะสามารถเปลี่ยนสีได้หรือไม่  ถ้าเปลี่ยนจะเปลี่ยนเป็นสีอะไร  จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการดอกไม้เปลี่ยนสี  เพื่อให้เด็กได้ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง 
          ดังนั้น  เพื่อให้ไขข้อสงสัยนักเรียนและครูจึงร่วมกันจัดโครงงานดอกไม้หลากสี  เพื่อทดลอง  ค้นคว้าหาคำตอบ  ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  เด็กๆ จะได้รับประสบการณ์ตรงจากการทดลอง  นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น  การรอคอยตามลำดับก่อน – หลัง  การสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว  การมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 
4.  วัตถุประสงค์
1.  เพื่อให้เด็กๆ สังเกตและบอกการเปลี่ยนแปลงสีของน้ำดอกไม้ได้
2.  เพื่อให้เด็กๆ เกิดทักษะในการทดลอง
          3.  เพื่อให้เด็กๆ รู้จักรอคอยตามลำดับก่อน – หลัง
4.  เพื่อให้เด็กๆ สนทนา  แสดงความคิดเห็น  ตอบคำถาม
   5.  แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
          หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
          เอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์แบบโครงงาน
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
6.  การดำเนินงาน/กระบวนการ/วิธีการปฏิบัติ
ขั้นตอนการทำโครงงาน
          ระยะเริ่มต้นโครงงาน
เด็กๆ และครูร่วมกันสนทนาประสบการณ์เดิมจากกการทดลองในกิจกรรมอินดิเคเตอร์จากพืชๆ  และสนทนาเกี่ยวกับดอกไม้ที่เด็กๆ รู้จัก  และสีของดอกไม้  เด็กๆ ออกมาเล่าเกี่ยวกับดอกไม้ที่อยู่ที่บ้านของตนเองให้เพื่อนและครูฟัง  แบ่งกลุ่มเป็น 3  กลุ่ม  ให้เด็กๆ นำดอกไม้มาจากบ้าน  ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองที่มารับเด็กๆ ตอนเย็นให้เตรียมดอกไม้  เพื่อใช้ในการทำกิจกรรม

บันทึกการสนทนาระหว่างเด็กกับครู
ครู          “ดอกไม้ที่เด็กๆ รู้จักมีดอกอะไรบ้าง  สีอะไรคะ”
น้องโอเว่น  “ดอกกุหลาบ  สีแดงครับ”
น้องไกด์    : “บ้านหนูมีเยอะเลย  ทั้งดอกกุหลาบ  สีแดง  ดอกชวนชม  ชมพู – ขาว 
                  ดอกโป้ยเซี๋ยน  สีชมพูนิดๆ  ดอกดาวเรือง  สีเหลือง”
น้องตั้งโอ๋   “บ้านหนูมีดอกเฟื่องฟ้า  สีชมพูคะ”
ครู          “เด็กๆ ติดว่าดอกไม้ที่เด็กบอกคุณครู  เวลาคั้นจะมีสีไหมค่ะ”
         น้องไกด์    “ไม่มีคะ”
         น้องเมย์     “มีคะ”
ครู          “พรุ่งนี้เด็กๆ คนไหนมีดอกไม้ให้เตรียมดอกไม้มาจากบ้านด้วยนะค่ะ”

          ระยะดำเนินการ
          1.  เด็กและครูทัศนศึกษาชมดอกไม้รอบๆ โรงเรียน
2.  สนทนาเกี่ยวกับดอกไม้ที่เด็กๆ เตรียมมา  เกี่ยวกับสี  กลิ่น  ครูใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กๆ คาดเดาน้ำของสีดอกไม้ก่อนทำการทดลอง
          3.  เด็กๆ แบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มละ 4-6  คน  ออกมาเลือกดอกไม้ที่เด็กๆ นำมาจากบ้าน  ได้แก่ 
ดอกกุหลาบ  ดอกดาวเรือง  ดอกเฟื่องฟ้า
          4.  เด็กๆ ทดลองหยดสาร  3  ชนิด  กับน้ำดอกไม้วันละ 1 ประเภท  ได้แก่  ดอกกุหลาบ
ดอกดาวเรือง  ดอกเฟื่องฟ้า  เรียงตามลำดับ  ก่อนการทดลองครูใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กๆ คาดเดาน้ำดอกไม้ที่คั้นจะเปลี่ยนสีหรือไม่  อย่างไร
5.  เด็กๆ ช่วยกันนำดอกไม้ที่ได้มาใส่ถุงคั้นให้ละเอียด  เติมน้ำลงไป  แล้วกรองน้ำดอกไม้ไว้
          6.  เด็กๆ แต่ละกลุ่มแบ่งน้ำดอกไม้ออกเป็น  4  แก้ว  แก้วใบที่ 1 เก็บไว้เปรียบเทียบ แก้วใบที่
2 – 4  สำหรับหยดน้ำมะนาว  น้ำโซดา  น้ำส้มสายชู  ผลัดเปลี่ยนกันหยดคนละ  3 – 5  หยด
          7.  เด็กๆ นำผลการทดลองสีของน้ำดอกไม้ในแต่ละวันมาเปรียบเทียบสีว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
          ระยะสิ้นสุดโครงงาน
เด็กและครูร่วมกันสรุปกิจกรรม  สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้จากการทำกิจกรรมให้เพื่อนและครูฟัง  สังเกตและบอกการเปลี่ยนแปลงสีของน้ำดอกไม้ได้  เกิดทักษะในการทดลอง  รู้จักรอคอยตามลำดับก่อน – หลัง  สนทนา  แสดงความคิดเห็น  ตอบคำถาม
7.  แผนการดำเนินงาน/ระยะเวลาในการดำเนินงาน
           ระยะเวลาดำเนินโครงงาน  21 – 25  มกราคม  2556  รวม  5  วัน
8.  ผลการปฏิบัติงาน
          จากการทดลองโครงงาน  เรื่อง  ดอกไม้เปลี่ยนสี  ดอกไม้ที่ใช้ในการทดลองได้แก่  ดอกกุหลาบ  ดอกดาวเรือง  และดอกเฟื่องฟ้า  คั้นแล้วผสมน้ำ  กรองน้ำดอกไม้ที่ได้ใส่ในแก้วที่เตรียมไว้  แบ่งน้ำดอกไม้ออกเป็น  4  แก้ว  แก้วใบที่ 1 เก็บไว้เปรียบเทียบ แก้วใบที่ 2 – 4   สำหรับหยดน้ำมะนาว  น้ำโซดา  น้ำส้มสายชู  ผลัดเปลี่ยนกันหยดคนละ 3 – 5 หยด  ผลการทดลองปรากฏว่า  เมื่อคั้นดอกกุหลาบ  จะได้น้ำสีแดงอ่อนๆ  หยดน้ำโซดา เป็นน้ำสีแดงอ่อนๆ เหมือนเดิม หยดน้ำมะนาว เป็นน้ำสีแดง หยดน้ำส้มสายชู เป็นน้ำสีแดงเข้ม  คั้นดอกดาวเรือง  จะได้น้ำสีเหลืองอ่อนๆ  หยดน้ำโซดา  เป็นน้ำสีเหลืองอ่อนๆ เหมือนเดิม  หยดน้ำมะนาว  เป็นน้ำสีเหลือง  หยดน้ำส้มสายชู  เป็นน้ำสีเหลืองเข้ม  คั้นดอกเฟื่องฟ้า  จะได้น้ำสีชมพูอ่อนๆ  หยดน้ำโซดา  เป็นน้ำสีชมพูอ่อนๆ เหมือนเดิม  หยดน้ำมะนาว  เป็นน้ำสีชมพู  หยดน้ำส้มสายชู  เป็นน้ำสีชมพูเข้ม 
 9.  ปัจจัยที่ทำให้วิธีการประสบผลสำเร็จ
          โรงเรียนเรณูวิทยาคารประสบความสำเร็จในการจัดโครงงานดอกไม้หลากสี จนมีผลงานที่เป็นเลิศได้ เนื่องจากมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานดังนี้
          1. ด้านภาวะผู้นำ ผู้บริหารในโรงเรียนมีภาวะผู้นำเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  สร้างภาวะผู้นำทุกระดับให้กับครู เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมและการดำเนินงานต่างๆ ไปด้วยดี
          2. ด้านความร่วมมือ การสนับสนุน และการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกัน ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
          3. การอุทิศเวลา ความรู้ ความสามารถ การติดตามดูแลเอาใจใส่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังเต็มความสามารถของคณะครู และบุคลากรในโรงเรียน
          4 การวางแผนการดำเนินงาน มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบส่งผลให้งานดำเนินงานไปตามแผน 
 10.  บทเรียนที่ได้รับ
1.  เด็กๆ สังเกตและบอกการเปลี่ยนแปลงสีของน้ำดอกไม้ได้
2.  เด็กๆ เกิดทักษะในการทดลอง
          3.  เด็กๆ รู้จักรอคอยตามลำดับก่อน – หลัง
4.  เด็กๆ สนทนา  แสดงความคิดเห็น  ตอบคำถาม



ภาพกิจกรรม